วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

งวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชี (Accounting Period)

งวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชี (Accounting Period)

คำว่างวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชี หมายถึง การที่กิจการจะทำการบันทึกรายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในงวดเวลาหรือรอบระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นก็จะสรุปออกมาว่าในงวดเวลานั้นกิจการมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และในวันสิ้นงวดเวลานั้นกิจการมีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร โดยงวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชีนั้นจะเป็นระยะเวลาเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี และถ้าหากงวดบัญชีของกิจการเป็น 1 ปี งวดบัญชีนั้นจะเริ่มต้นเมื่อไรก็ได้ จะเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม เหมือนปีปฏิทินหรือไม่ก็ได้

ประเภทของธุรกิจ (Types of Business)

เราสามารถแบ่งประเภทของธุรกิจที่เป็นธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ธุรกิจบริการ (Service Businesses) เป็นธุรกิจที่มีรายได้เกิดขึ้นจากการให้บริการ ซึ่งบริการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น สวนสนุก หอพัก กิจการรถเช่า โรงภาพยนตร์ คลินิก โรงแรม รถประจำทาง เป็นต้น

2. ธุรกิจซื้อขายสินค้า (Merchandising Businesses) หรือ ธุรกิจพาณิชยกรรม เป็นธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจโดยการซื้อสินค้าเข้ามาแล้วขายสินค้านั้นออกไปในราคาที่สูงกว่าเดิม โดยไม่มีการแปรรูปหรือแปลงสภาพสินค้าแต่อย่างใด เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต บริษัทขายรถยนต์ เป็นต้น

3. ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing Businesses) หรือ ธุรกิจผลิตสินค้า เป็นธุรกิจที่มีการดำเนินการผลิตสินค้า คือมีการแปรรูปวัตถุดิบที่ซื้อเข้ามาเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วขายออกไป ธุรกิจประเภทนี้ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานกระเบื้อง โรงงานทอผ้า เป็นต้น

ข้อมูลโดย : http://coursewares.mju.ac.th/

รูปแบบของการดำเนินธุรกิจ (Types of Business Organizations)

รูปแบบของการดำเนินธุรกิจ (Types of Business Organizations)

ธุรกิจทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว สามารถเลือกดำเนินธุรกิจ 3 รูปแบบ คือ

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Individual Proprietorship) เป็นรูปแบบของการดำเนินกิจการที่มีเจ้าของเพียงคนเดียวคือผู้ก่อตั้งกิจการ โดยมากมักเป็นกิจการขนาดเล็ก เจ้าของเป็นผู้บริหารงานเอง ดังนั้นจึงมีความคล่องตัวในการบริหารงานสูง เนื่องจากสามารถตัดสินใจในเรื่องของการบริหารงานได้เองเลยโดยที่ไม่ต้องถามความเห็นของผู้อื่น หากกิจการมีกำไร เจ้าของกิจการก็ได้รับกำไรนั้นแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้ากิจการขาดทุนเจ้าของกิจการก็ต้องรับผิดชอบผลการขาดทุนและหนี้สินที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน ในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเจ้าของคนเดียวนี้หากกิจการต้องการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีเจ้าของเพียงคนเดียว

2. กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership) เป็นรูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่มีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาร่วมกันจัดตั้งกิจการ โดยเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน มีสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน และแบ่งผลกำไรกัน ซึ่งเจ้าของกิจการห้างหุ้นส่วนจะถูกเรียกว่า “ผู้เป็นหุ้นส่วน” ในการบริหารงานของกิจการจะกำหนดให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้บริหารงาน ซึ่งจะเรียกว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนมี 2 ประเภท คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Unlimited Partnership) ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนประเภทที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทที่มีหุ้นส่วนบางคนรับผิดชอบเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นเท่านั้น ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

กิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนนี้จะแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว เนื่องจากมีจำนวนเจ้าของมากกว่า แต่หากมีกำไร กำไรนั้นก็ต้องแบ่งให้กับหุ้นส่วนทุกคน หากขาดทุนก็จะต้องรับผิดชอบผลขาดทุนและหนี้สินของกิจการร่วมกันทุกคน

3. บริษัทจำกัด (Limited Company) เป็นรูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งเงินทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นซึ่งก็คือเจ้าของกิจการต้องรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ บริษัทจะถูกบริหารงานโดยคณะกรรมการบริษัท ซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้ง โดยที่คณะกรรมการบริหารบริษัทนั้นมาจากผู้ถือหุ้นหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นในบริษัทจำกัดจึงมีการแยกระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้บริหารงาน นั่นก็คือ ผู้ถือหุ้นมิได้บริหารงานเองโดยตรง แต่มอบหมายให้คณะกรรมการเป็นผู้บริหารงานแทน เมื่อจดทะเบียนแล้ว บริษัทจะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ซึ่งกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัดนี้จะหาแหล่งเงินทุนได้ง่าย เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และการบริหารงานก็คล่องตัว ผู้บริหารก็มักจะเป็นมืออาชีพในการบริหารธุรกิจ หากบริษัทมีกำไร เจ้าของกิจการซึ่งเรียกว่า “ผู้ถือหุ้น” จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล

ข้อมูลโดย : http://coursewares.mju.ac.th/

สมการบัญชี (Accounting Equation)

สมการบัญชี (Accounting Equation)

เพื่อให้ศึกษาวิชาการบัญชีได้เข้าใจและง่ายขึ้น เราจะมาเริ่มต้นกันที่การรู้จักสมการบัญชี ซึ่งสมการบัญชีคือ

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

จะเห็นได้ว่าในสมการบัญชีมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งหมด 3 คำ คือคำว่า สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ เราจะมาทำความเข้าใจกับคำทั้งสามคำนี้ก่อน

สินทรัพย์ (Assets) หมายถึง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าที่วัดได้เป็นตัวเงินที่กิจการเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ เช่น เงินสด รถยนต์ สัมปทาน เป็นต้น เราสามารถจำแนกสินทรัพย์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ 4 ประเภท ดังนี้

สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสด หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 รอบระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจหรือ 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินสด (Cash) หมายถึง ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่กิจการมีอยู่ในมือ และรวมถึงเช็คที่ถึงกำหนดได้รับเงินแล้วแต่กิจการยังไม่ได้นำไปขึ้นเงินหรือนำฝากธนาคาร ดราฟท์ ธนานัติ แคชเชียร์เช็ค เป็นต้น

1.2 เงินฝากธนาคาร (Cash in Bank or Deposit) หมายถึง บัญชีเงินฝากธนาคารที่กิจการมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ

1.3 เงินลงทุนระยะสั้น (Short-term Investment) หมายถึง การที่กิจการได้นำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ แล้วขายคืนภายใน 1 ปี

1.4 ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกค้ามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับกิจการในอนาคตข้างหน้าอันเนื่องมาจากธุรกิจการค้า

1.5 ตั๋วเงินรับ (Notes Receivable) หมายถึง เอกสารหรือสัญญาที่ลูกค้าหรือลูกหนี้ได้ออกให้แก่กิจการเพื่อใช้เป็นเอกสารในการเรียกเก็บเงินภายหลัง เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นต้น

1.6 สินค้าคงเหลือ (Inventories) หมายถึง สินค้าสำเร็จรูป งานระหว่างผลิต วัตถุดิบ ที่มีไว้เพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อใช้ในการผลิต แต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากกิจการ ยังคงเหลืออยู่ในกิจการ

1.7 ลูกหนี้อื่น ๆ (Other Receivables) หมายถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่ใช่เกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการ เช่น เกิดจากการกู้ยืม เป็นต้น

1.8 รายได้ค้างรับ (Accrued Revenue) หมายถึง รายได้อื่น ๆ ที่ไม่เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการที่กิจการควรจะได้รับ แต่ยังไม่ได้รับ เช่น ดอกเบี้ยค้างรับ เป็นต้น

1.9 ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่กิจการได้จ่ายเงินไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่จ่ายไปนั้น เช่น ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า เป็นต้น

1.10 วัสดุสิ้นเปลือง (Supplies) หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการที่มีลักษณะที่ใช้แล้วหมดไปภายใน 1 ปี เช่น น้ำมันหล่อลื่น ด้าย ผงซักฟอก เป็นต้น และถ้าหากวัสดุสิ้นเปลืองนั้นใช้ในสำนักงาน ก็จะถูกเรียกว่า วัสดุสำนักงาน (Office Supplies) เช่น ปากกา ดินสอ ลวดเย็บกระดาษ เป็นต้น

เงินลงทุนระยะยาว (Long-term Investment) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนในอนาคตข้างหน้า โดยตั้งใจจะลงทุนเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี

สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี ที่กิจการมีไว้เพื่อที่จะใช้ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อที่จะก่อให้เกิดรายได้กับกิจการ ตัวอย่างของสินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากสินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี แต่ไม่ได้มีไว้ในเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการของกิจการ ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร เช่น หากกิจการเป็นกิจการขายรถยนต์ รถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นสินค้าคงเหลือ หรือหากกิจการซื้อที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไร โดยหากราคาของที่ดินสูงขึ้นจะขายที่ดินแปลงนี้ออกไป ที่ดินแปลงนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นเงินลงทุนระยะยาว เป็นต้น

สินทรัพย์อื่น (Other Assets) หมายถึงสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ประเภท ในทางบัญชีสินทรัพย์อื่นนี้จะหมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น สัมปทาน สิทธิบัตร เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์อื่นนี้จะมีอายุการใช้ประโยชน์เกิน 1 ปี

หนี้สิน (Liabilities) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการเป็นหนี้บุคคลหรือกิจการอื่น ซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนให้กับบุคคลหรือกิจการเหล่านั้นในอนาคตข้างหน้า หนี้สินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) หมายถึง หนี้สินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร (Bank Overdraft) หมายถึง เงินที่กิจการเบิกเกินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งธนาคารยอมให้เบิกเกินบัญชีไปก่อนในระยะสั้น ๆ ซึ่งกิจการจะต้องชำระคืนธนาคารในอนาคต

1.2 เงินกู้ยืมธนาคารระยะสั้น (Short-term Bank Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำสัญญาตกลงกับธนาคารในการกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่ง โดยที่มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี

1.3 เจ้าหนี้การค้า (Account Payable) หมายถึงจำนวนเงินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระให้กับบุคคลหรือกิจการอื่นเป็นค่าสินค้าหรือบริการที่กิจการซื้อมาเป็นเงินเชื่อ

1.4 ตั๋วเงินจ่าย (Notes Payable) หมายถึง เอกสารที่กิจการออกให้กับบุคคลหรือกิจการ เพื่อเป็นสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดตามเอกสารนั้น กิจการจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ถือเอกสาร ในจำนวนเงินตามเอกสารนั้น

1.5 รายได้รับล่วงหน้า (Deferred Revenue) หมายถึง รายได้ที่กิจการได้รับเงินมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า ซึ่งจะมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าในอนาคตเนื่องจากได้รับเงินมาแล้ว

1.6 ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ครบกำหนดที่จะต้องจ่ายแล้ว แต่กิจการยังไม่ได้จ่ายเงิน และกิจการยังไม่เคยรับรู้และมีการบันทึกบัญชีมาก่อน จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีของกิจการ เช่น ค่าเช่าค้างจ่าย ค่าสาธารณูปโภคค้างจ่าย เป็นต้น

1.7 เจ้าหนี้อื่น (Other Payable) หมายถึง ภาระผู้พันที่กิจการจะต้องชำระหนี้ให้กับบุคคลหรือกิจการอื่น ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้การค้า เช่น เจ้าหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมระยะสั้นที่ไม่ไช่ธนาคาร เป็นต้น

หนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities) หมายถึง ภาระผูกพันที่กิจการจะต้องชำระคืนบุคคลหรือกิจการอื่น ที่มีระยะเวลาการชำระคืนเกิน 1 ปี แต่ถ้าหากหนี้สินระยะยาวใดที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีข้างหน้า หนี้สินระยะยาวจำนวนนั้น จะถือเป็นหนี้สินหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น กิจการกู้เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1,000,000 บาท มีกำหนดชำระคืนเงินต้น 10 ปี ปีละ 100,000 บาท เริ่มชำระคืนเงินต้นปีหน้านี้เป็นปีแรก ดังนั้น เงินจำนวน 100,000 บาท ที่จะต้องชำระคืนในปีหน้า จะถือว่าเป็นหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินระยะยาวจะเป็นจำนวนเงินเพียงแค่ 900,000 บาท หนี้สินระยะยาวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

2.1 หุ้นกู้ (Bonds Payable) หมายถึง การที่กิจการกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยออกหุ้นกู้ไว้ให้เป็นหลักฐาน ซึ่งกิจการจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งหุ้นกู้นี้มักจะมีกำหนดการไถ่ถอนมากกว่า 1 ปีและเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว กิจการก็จะต้องนำเงินไปชำระคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเราเรียกว่าการไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นเอง

2.2 เงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง หรือเงินกู้จำนอง (Mortgage Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยการนำสินทรัพย์ถาวรของกิจการไปจำนองกับผู้ให้กู้ไว้เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

2.3 เงินกู้ระยะยาวโดยไม่มีการจำนอง หรือเงินกู้ระยะยาว (Long-term Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินกู้ระยะยาวจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equity) หรือบางทีอาจจะเรียกว่า ทุน (Proprietorship) หมายถึง มูลค่าของสินทรัพย์ทีเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของโดยปราศจากการมีหนี้สินทึ่จะต้องชำระคืนในอนาคต ส่วนของเจ้าของของกิจการที่ดำเนินงานแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ดังนี้

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Individual Proprietorship) สำหรับกิจการเจ้าของคนเดียว ส่วนของเจ้าของคือสินทรัพย์ที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุนในกิจการเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเรียกว่า “ทุน” ทุนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากผลการดำเนินงานของกิจการที่มีกำไร หรือจากการที่เจ้าของกิจการนำสินทรัพย์มาลงทุนเพิ่มเติม และทุนจะมีจำนวนลดลงจากผลการดำเนินงานของกิจการที่ขาดทุน หรือจากการที่เจ้าของกิจการได้ถอนทุนคืนไป

2. กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership) สำหรับกิจการห้างหุ้นส่วน ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วยทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือมีการลงทุนเพิ่ม และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะลดลงเมื่อได้รับส่วนแบ่งการขาดทุน หรือเมื่อมีการถอนทุนคืน

3. กิจการบริษัทจำกัด (Limited Company) สำหรับกิจการบริษัทจำกัด ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วย ทุนเรือนหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ์ ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ ซึ่งคือจำนวนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ และกำไรสะสมหรือขาดทุนสะสม ซึ่งหมายถึงผลการดำเนินงานที่สะสมมาในแต่ละปีตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ

จากสมการบัญชี

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

ทำให้เราเข้าใจได้ว่าสินทรัพย์ซึ่งเป็นของกิจการนั้นประกอบไปด้วยแหล่งที่มา 2 แหล่ง ก็คือมาจากการกู้ยืมหรือเป็นหนี้บุคคลหรือกิจการอื่นซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (หนี้สิน) และอีกแหล่งคือเป็นของกิจการเองโดยไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (ส่วนของเจ้าของ)

ข้อมูลโดย : http://coursewares.mju.ac.th/

กรมสรรพากรร่วมมือกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้บริการรับชำระภาษีด้วยบัตรเครดิต

กรมสรรพากรร่วมมือกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้บริการรับชำระภาษีด้วยบัตรเครดิต


เลขที่ข่าว ปชส. 17/2550

วันที่แถลงข่าว 22 พฤษภาคม 2550

เรื่อง กรมสรรพากรร่วมมือกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้บริการรับชำระภาษีด้วยบัตรเครดิต

วันนี้ (22 พฤษภาคม 2550 ) กรมสรรพากรได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือในการให้บริการรับชำระภาษีด้วยบัตรเครดิต โดยนายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร ประธานในพิธีร่วมลงนามกับนายพงษ์ศักดิ์ ศรุติปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจร้านค้า เคทีซี หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษี สามารถชำระภาษีได้ทุกประเภทภาษีด้วยบัตรเครดิตเคทีซี เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “ การให้บริการครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยผสมผสานศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยของทั้ง 2 หน่วยงาน มาใช้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ซึ่งต่อไปนี้การจ่ายชำระภาษีผ่านบัตรเครดิตเคทีซีจะเป็นทางเลือกใหม่ที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และผู้เสียภาษีให้เกิดความ สมัครใจในการทำหน้าที่ และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของกรมสรรพากรในภาพรวมอย่างดียิ่ง จึงขอเชิญชวนให้ผู้เสียภาษี ใช้บริการชำระภาษีด้วยบัตรเครดิตเคทีซี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป โดยระยะแรกให้บริการเฉพาะสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา 51 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และจะพิจารณาขยายการให้บริการดังกล่าวไปยังพื้นที่และบัตรเครดิตชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปด้วย”

นายพงษ์ศักดิ์ ศรุติปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจร้านค้า “ เคทีซี ” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เคทีซีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากกรมสรรพากรให้เป็นผู้บริการรับชำระภาษีผ่านบัตรเครดิตเป็นครั้งแรกในเมืองไทยซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดเวลาให้แก่สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีทั่วประเทศถึงกว่า 1.42 ล้านบัตร โดยสมาชิกจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ในการสะสมคะแนนตามปกติของการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยทุกการใช้จ่าย 25 บาท จะได้รับคะแนนสะสม 1 คะแนน และสมาชิกจะเสียค่าธรรมเนียมรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 2% จากยอดภาษีที่ต้องชำระ และเราหวังว่า การบริการในรูปแบบใหม่นี้จะสามารถตอบสนองความต้องการแก่สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีได้สูงสุด และจะ มุ่งมั่นสรรหาบริการที่ดีและมีประโยชน์มานำเสนอให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ”

http://www.rd.go.th/publish/34963.0.html

ภาษีอากร

ภาษีอากร คือสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร เพื่อใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร หรืออีกความหมาย คือ

เงินได้หรือทรัพยากร ที่เคลื่อนย้ายจากเอกชนไปสู่รัฐบาล แต่ไม่รวมถึงการกู้ยืมหรือขายสินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษี

เพื่อหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อการกระจายรายได้ เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เพื่อการชำระหนี้สินของรัฐบาล หรือสนองนโยบาย

ธุรกิจ และการคลังของรัฐบาล ประเภทภาษีอากร แบ่งเป็นภาษีอากรทางตรง และภาษีทางอ้อม ซึ่งกฎหมายที่ทางรัฐบาลใช้ในการเรียกเก็บภาษี คือ ประมวล

รัษฎากร ลักษณะของภาษีอากรที่ดี รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักบัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการบัญญัติกฎหมายภาษี

อากรที่ดีนั้น มีหลักการบางประการที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครใจในการเสียภาษีอากร และให้กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาษีอากรที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

1. มีความเป็นธรรม
2. มีความแน่นอน และชัดเจน
3. มีความสะดวก
4. มีประสิทธิภาพ
5. มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ
6. อำนวยรายได้
7. มีความยืดหยุ่น

http://th.wikipedia.org/

Modified by HMU111.COM and SEO-TH.COM